เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนหารือร่วมคณะผู้แทนจาก บริษัท มิชลิน กรุ๊ป กำหนดแนวทางบริหารจัดการระบบยางพาราไทย รองรับกฎระเบียบ EU Deforestation Regulation (EUDR) พร้อมด้วย นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมหารือแลกเปลี่ยน พร้อมกำหนดแนวความร่วมมือฯ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เผยว่า บริษัท มิชลิน ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยางล้อหลักของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตยางล้อและยางพาราแห่งยุโรป (ETRMA) ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีการใช้วัตถุดิบยางพาราของประเทศไทย ได้เข้าพบผู้บริหารกระทรวงฯ เพื่อหารือและร่วมกำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมการดำเนินงานด้านกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า EUDR ในสินค้าประเภทยางพารา ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสินค้าโภคภัณฑ์ทั้ง 7 ชนิด โดยจะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อสามารถแสดงแหล่งที่มาของผลผลิตในการส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปได้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าในกลุ่มดังกล่าว โดยการหารือร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการสินค้ายางพาราของไทยให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้า การลงทุนของอุตสาหกรรมยาง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของไทย สำหรับกระบวนการด้านเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินของเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรให้มีความถูกต้อง โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR
ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนและร่วมมือกับ บ.มิชลิน ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยาง เพื่อความยั่งยืนของยางธรรมชาติ เช่น ระบบกรีดแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ระบบการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างระบบนิเวศน์ให้มีความยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนา ร่วมถึงการนำแพลตฟอร์มดิจิตอลรวบรวมข้อมูลห่วงโซ่การผลิตด้านต้นน้ำ สำหรับการปรับปรุงในแง่ของการปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงในการรองรับกฎระเบียบ EUDR ทั้งนี้ มอบ กยท. เร่งดำเนินการขยายตลาดเครือข่ายยาง เพื่อให้เข้าถึงจุดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานยางพารา โดยมีเป้าหมาย ให้เกษตรกรชาวสวนยางไทยมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมั่นคง และยังช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจจากยางพาราได้อย่างยั่งยืง
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |