กยท. จับมือ สคช. และ ม.อ. ลงนาม MOU พัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา หวังสร้างต้นแบบ-ขยายขีดการแข่งขันของประเทศ
(5 ม.ค. 67) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผนึกกำลัง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมลงนาม MOU "การพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน ด้านเพาะปลูกยางพาราให้มีมาตรฐานอาชีพ” โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในการลงนาม ระหว่าง นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ นางสาว จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หวังเพิ่มพูนความรู้และทักษะการทำงานให้ผู้ปฏิบัติงานฯ สร้างต้นแบบการเรียนรู้ ขยายขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสดีของ กยท. ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราในสังกัด กยท. ทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเกษตรกรรมการเพาะปลูกยางพาราอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสภาพการณ์ปัจจุบัน ตามมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาการจัดการสวนยางให้เกิดประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ผลผลิตยางพารามีคุณภาพตามมา ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้แก่ชาวสวนยางไทย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน กยท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า MOU ในครั้งนี้จะขยายผลต่อยอดไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ในอนาคต
นายสุขทัศน์ เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทั้ง 3 ภาคส่วนมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราระดับครัวเรือนสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังส่งเสริมการจัดการสวนยางพาราให้มีมาตรฐาน เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานสู่มาตรฐานสากล
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กยท. ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพาราในสังกัด เข้าร่วมการฝึกอบรมและประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตลอดจนประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน เพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงผลักดันการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป
"การร่วมมือกันครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและบ่มเพาะความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ของผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา โดยสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ สู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศได้” นายสุขทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |