วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการจัดตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านพืชผิดกฎหมายขึ้น ซึ่งได้ประชุมหารือร่วมกำหนดแผน แนวทางการปราบปราม ทั้งการตรวจสต๊อกยางตามแนวชายแดน การเคลื่อนย้าย รวมถึงรวบรวมข้อมูลปริมาณยางคงเหลือ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการตามแนวทางที่วางไว้โดยทันที พร้อมรายงานผลการดำเนินงานให้คณะทำงานฯ ทราบทุก 15 วัน
“จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ที่ให้ความสำคัญในแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมายซึ่งรวมถึงยางพารา โดยเร่งเดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง ประกอบกับ ผลผลิตยางช่วงนี้ลดลง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ราคายางพาราในปัจจุบันมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 4-5 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าจะมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่ดีต่อไป”
ในส่วนของ กยท. ได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามแนวทางอย่างเต็มที่ โดยการลงพื้นที่เข้าตรวจสถานประกอบการผู้รับใบอนุญาตค้ายาง ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและหน่วยงานปกครอง เข้าตรวจสอบทะเบียนร้านค้า การทำบัญชีผู้รับซื้อยางพารา พร้อมชี้แจงให้ร้านค้าในพื้นที่ทราบเกี่ยวกับโทษในการรับซื้อยางพาราที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับควบคุมสถาบันเกษตรกรฯ ไม่ให้รับซื้อยางที่ผิดกฎหมาย
พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงตั้งจุดสกัด โดยหลังจากนี้จะร่วมเข้าตรวจสต๊อกยาง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ภายใต้ความรับผิดชอบหลักของกรมวิชาการเกษตรซึ่งพนักงานของ กยท. ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 60
ทั้งนี้ กยท. เตรียมจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนมอบหมายให้ กยท.จังหวัด และ กยท. สาขา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพรมแดน ดำเนินการสำรวจการผลิตยางธรรมชาติของเกษตรกร ทั้งปริมาณ รูปแบบของผลผลิตยางที่ขาย จำแนกเป็นน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ และนำมาประมวลผลเพื่อทำข้อมูลห่วงโซ่อุปทานการผลิตยางธรรมชาติในประเทศ (เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ)
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |