TLA LATEX
   
 
วันที่ 22/01/2568
68.50 บาท/กก.
 
วันที่ 21/01/2568
1,585.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททำได้จริง! แต่เบื้องต้นไม่ทั่วประเทศ new

จากการที่ 'นายเศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยที่ได้คลอดมาตรการต่างๆ ออกมามากมาย และยืนยันถึง 'การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท' โดยจะประกาศภายในเดือนพ.ย.2566 เพื่อจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ปีหน้า พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หาแนวทางร่วมกับหน่วยงานภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน

ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทไม่ทั่วประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก แต่เบื้องต้นคงไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  400 บาท ได้ทั่วประเทศ เนื่องจากไม่ได้ต้องการให้กระทบทั้งภาคอุตสาหกรรมและการผลิต

อีกทั้ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดร้อยละ 10 จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน 328-354 บาท ธุรกิจหลายภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไปต่อไม่ได้ รวมถึงเพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นทางรายได้สำหรับกลุ่มแรงงานใหม่และแรงงานเก่า โดยการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม จะต้องปรับขึ้นค่าแรง ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยว่า ณ ขณะนั้นตัวเลขเงินเฟ้อจะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นให้สูงกว่าเงินเฟ้อ

ดังนั้น ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน ได้มีการหารือทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและรับฟังข้อเรียกร้องจากเครือข่ายต่างๆ ก่อนจะเคาะค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยืนยันค่าแรง 400 บาทต่อวัน ไม่ขึ้นแบบกระชาก  เพราะจะกระทบนายจ้าง และภาคธุรกิจเอสเอ็ม

 

เร่งเสริมทักษะฝีมือให้สูงขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นควรทยอยปรับขึ้นในปี 2567-2570 และควรประกาศว่าแต่ละปีจะปรับขึ้นอัตราเท่าใด เช่น หากใช้ค่าจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลเป็นฐาน ปรับเป็น 400 บาท จะเพิ่มขึ้นวันละ 47 บาท

หากนายจ้างที่จ้างงาน 100 คน จะมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นปีละ 1.7 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนไม่เห็นด้วย เพราะค่าจ้างที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนของนายจ้าง โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี จึงขอให้รัฐบาลทบทวนอัตราให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และไม่ควรปรับเท่ากันทั้งประเทศ อีกทั้งค่าจ้างที่สูง จะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย

 

ดร.ธนิต กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่รัฐควรเร่งดำเนินการตอนนี้ ไม่ใช่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ภาครัฐต้องยกระดับคุณภาพแรงงานให้วิ่งตามทันค่าจ้าง ไม่เช่นนั้นต้นทุนจะไปอยู่ในราคาสินค้า จึงฝากไปถึงรัฐบาล ขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ธุรกิจรายได้หด ขาดสภาพคล่อง จึงไม่ใช่ช่วงจังหวะที่จะปรับค่าจ้างแบบประชานิยม แต่ควรส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานสอบเทียบทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรับค่าจ้างอัตราที่สูง

ค่าแรง 600 บาท ขึ้นปีละ 12.7%ต่อปี

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 323-354 บาท จะขึ้นไปที่ 600 บาท ต้องขึ้นปีละ 12.7% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจากโควิด-19 จึงโตได้อย่างมากปีละ 3.7%  ดังนั้น เมื่อรายได้ธุรกิจเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.7% ต่อปี แต่ค่าแรงเพิ่ม 12.7% ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบมาก

ทั้งนี้ หากมองแบบเป็นกลาง ธุรกิจที่ไหว คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่จ่ายค่าแรงสูงได้ดี รวมทั้งธุรกิจเศรษฐกิจโมเดิร์น เช่น ร้านอาหารแฟรนไชส์ส่วนนี้แรงงานน่าจะได้ประโยชน์ แต่ธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้มีจำนวนมาก เช่น เอสเอ็มอี ธุรกิจส่งออกที่เน้นแข่งขันค่าแรงจะล้มหายไป เพราะผลกระทบจากโควิดยังไม่หาย แต่มาเจอต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น

 

4 ประเด็นหลักต้องทบทวนหากขึ้นค่าแรง

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มนุษย์ค่าจ้างมี 18 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเอกชน 14 ล้านคน ภาครัฐ 8 ล้านคน โดยแรงงานไทย 1 คน ต้องเลี้ยงดูอย่างน้อย 3 คน และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับเป็นค่าแรงเลี้ยงคนเดียว ส่วนลักษณะการทำงานแรงงานไทยมีความมั่นคงทางอาชีพค่อนข้างต่ำ ทำให้แรงงานจะถูกปลดจากงานเมื่อใดก็ได้

ขณะเดียวกัน ต่อให้เพิ่มค่าแรงขึ้น 5% แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้น 65% ดังนั้น ค่าแรงขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนในประเทศจึงน้อยลง และไม่สามารถทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้นได้ เมื่อมองเรื่องค่าแรง ควรมอง 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

 1.ต้นทุนค่าครองชีพลูกจ้าง

2.ความสามารถที่นายจ้างจะจ่ายได้

3.การเปรียบเทียบค่าจ้างของประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจคล้ายกัน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย 

4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเศรษฐกิจมหาภาค

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสากลแล้ว การขึ้นค่าแรงในไทย แรงงาน 1 คน ดูแลคน 3 คน จะต้องขึ้นถึง 712 บาท ต้องเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ไม่ใช่เพียงชีวิตคนทำงานเท่านั้น อีกทั้งการขึ้นค่าแรง อยากให้ตั้งคำถามกับบริษัทใหญ่หรือบริษัทต่างชาติ ทำไมประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งบริษัทสามารถจ้างแรงงานสูงๆ ได้ แต่ทำไมพอมาจ้างแรงงานไทยถึงจ่ายไม่ได้ รัฐบาลต้องมองในเรื่องนี้ร่วมด้วย

 

สร้างโมเดลค่าแรง ควรขึ้นแบบไตรภาคี

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ค่าแรงในปัจจุบันยอมรับว่าน้อยเกินไป เพราะค่าครองชีพปรับขึ้นมากกว่าค่าแรง ดังนั้น จำเป็นต้องขึ้นค่าแรง แต่จะขึ้นจำนวนเท่าใดต้องพิจารณารอบด้าน

โดยต้องปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป หากขึ้นทันทีจะกระทบมาก และการขึ้นค่าแรงไม่ใช่เฉพาะนายจ้างลูกจ้าง แต่ต้องมองส่วนอื่น เช่น ค่าครองชีพขึ้นมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องสร้างโมเดลที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ และการขึ้นค่าแรงควรเป็นแบบไตรภาคี รวมถึงรัฐบาลต้องทำให้กำลังซื้อของประเทศฟื้นตัว

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีแนวทางในการกำหนด หรือออกนโยบายที่มีผลการศึกษาละเอียดถึงขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน รวมถึง ควรมีฐานข้อมูลแรงงาน ที่จะช่วยสะท้อนการจ้างงานอย่างละเอียด มีระบบการฝึกทักษะ อัพสกิล รีสกิลในทุกกลุ่มอาชีพ และต้องเป็นข้อมูลที่อยู่บนฐานข้อมูลจริง วางแผนการดำเนินงานใน 3-4 ปีข้างหน้า

ที่สำคัญรัฐต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และช่วยหาลูกค้าให้ผู้ประกอบการร่วมด้วย

พร้อมทั้งต้อง ยกระดับทักษะแรงงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน โดยการขึ้นค่าแรงแต่ไม่ยกระดับฝีมือยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน

ส่วนการกำหนดให้เงินเดือนเริ่มต้นของคนทำงานราชการที่จบ ป.ตรี เท่ากับ 25,000 บาท ต้องมีการปรับเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดใหม่ทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่เข้าทำงานก่อน เพราะบางคนทำงานมา 5 ปี 10 ปี เงินเดือนเพิ่งจะแตะ 25,000 บาท ความวุ่นวายแบบนี้จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเช่นกัน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ :  25 กันยายน 2566
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com