ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (16-20 ม.ค.) ที่ระดับ 32.70-33.70 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ), การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน, ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 4/65 และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และอังกฤษเดือนธ.ค. ด้วยเช่นกัน
โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 ม.ค.) เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 32.95 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในส่วนของตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรไทยในระหว่างสัปดาห์ ประกอบกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียขยับแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่องตามทิศทางค่าเงินหยวน ซึ่งยังคงได้รับอานิสงส์จากความหวังเรื่องการทยอยเปิดประเทศของจีน และค่าเงินเยนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจปรับท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงิน
นอกจากนี้ เงินบาทยังเพิ่มช่วงบวกได้ต่อจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย หลังข้อมูล CPI ของสหรัฐฯ ชะลอลงสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งยิ่งหนุนมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และเฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 25 bps. ในการประชุมปลายเดือนนี้
โดยในวันศุกร์ที่ 13 ม.ค.66 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.98 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.05 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ม.ค.66 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 10,480 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 18,990 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 19,069 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 79 ล้านบาท)
ที่มา : สยามรัฐ |