TLA LATEX
   
 
วันที่ 22/01/2568
68.50 บาท/กก.
 
วันที่ 21/01/2568
1,585.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   ส่งออกยางโคม่า ทุบราคาในประเทศดิ่งเหว new

2 สมาคม “ยางพาราไทย- น้ำยางข้นไทย” ชี้วิกฤติส่งออกยางพาราโคม่า สารพัดมรสุม ลูกค้าเบรก ชะลอ เบี้ยว ทิ้งออร์เดอร์ ทุบราคาในประเทศดิ่งเหว โชคดีฝนตกช่วย แนะเพิ่มใช้ยาง เสริมรายได้ ผู้ว่าฯ กยท. ย้ำ 21 พ.ย.นี้ กนย.นัดประชุมประกันรายได้ยางพารา เฟส 4 มาแน่ รับเงินสูงสุด 60 บาท/กก.

นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงปัญหาราคายางพาราในปี 2565 ความต้องการชะลอตัว ฝั่งถุงมือยาง หดตัวลง 50%-60%, กลุ่มเส้นด้าย ยางยืด ก็ชะลอตัวไป 30% ของกำลังการผลิต และหมอน ที่นอน ยางพารา ชะลอตัวไป 70% ทำให้สถานการณ์โดยรวมผู้ซื้อมีน้อย ซัพพลายถ้าหมดฤดูฝนยางคาดจะออกมาเยอะ (เดือนธ.ค.-ก.พ.) ก็มีความวิตกกังวลว่ายางที่ออกมามาก ความต้องการมีไม่เพียงพอต่อซัพพลายจะทำให้ราคาลงต่ำอีก

“ลูกค้าในตอนนี้ติดปัญหาซื้อสินค้าไปก่อนหน้านี้ก็เบรกรับส่งมอบ จึงทำให้มีสต๊อกเหลือที่จะต้องใช้ไปเรื่อยๆ ยังไม่มีการซื้อของใหม่ ซัพพลายเออร์ก็ยังต้องแบกสต๊อกที่อยู่ในแทงก์เก็บไว้ ก็เป็นปัญหาลูกโซ่เป็นทอดๆ เพราะตลาดค่อนข้างซบเซา”

สำหรับตลาดถุงมือมี 2 ประเภท ก็คือ ถุงมือไนไตร ทำจากยางสังเคราะห์ ราคาก็ปรับลงมาเยอะ ก็ส่งผลทำให้ถุงมือยางธรรมชาติก็ปรับตัวลงมาด้วย จึงทำให้วัตถุดิบที่เป็นน้ำยางข้น ปรับลงมาด้วย  เช่นเดียวกับตลาดยางยืด ตลาดก็ซบเซา ปัญหาจากเศรษฐกิจฝืดเคือง เงินเฟ้อทั่วโลก ข้าวของแพง  บวกกับเศรษฐกิจถดถอย เพราะคนไม่มีกำลังจะซื้อทำให้พวกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มขายไม่ดี ทำให้ยางยืดขายไม่ดีไปด้วย มาย่ำแย่ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วน หมอน ที่นอนกระทบหนัก เพราะจีน ประเทศซีโร่โควิด ปิดประเทศไม่ออกมาท่องเที่ยวก็ไม่มาซื้อ กลุ่มนี้จะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาซื้อ ซบเซามาตั้งแต่ช่วงโควิดจนถึงตอนนี้ยังไม่ฟื้นเลยนาย

พงศ์นเรศ กล่าวว่า ความจริงทุกคนอยากให้ราคายางดีดปรับขึ้นมา เพราะทุกคนมีออร์เดอร์เก็บไว้ช่วงราคาสูงมีจำนวนมาก พอถูกลูกค้าดีเลย์รับมอบ บางรายก็เบี้ยว ชะลอการจ่ายเงิน ชะลอการรับของ แต่ก็ภาวนาให้ราคาทรงตัวอยู่ได้ แล้วพร้อมที่จะขึ้น ลูกค้าก็น่าที่จะมารับของเก่า แล้วมาซื้อของใหม่บ้าง ทุกคนก็ไม่อยากให้ราคาลง เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ ยิ่งราคาลง ก็ยิ่งไม่มีใครอยากได้ รอจนกว่าของจะหมดจริงถึงจะซื้อ และของเก่าที่ค้างรับ ก็ทยอยรับมาก่อนไม่ต้องรีบซื้อ ยิ่งทำให้ตลาดซบเซา อยากให้กำลังใจชาวสวนยางพยายามจะพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่านี้ ในนามสมาคม ผู้ประกอบการน้ำยางข้น และภาครัฐ กยท.ก็พยายามที่จะรักษาเสถียรภาพราคาเพื่อให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุด

ด้านนายกรกฎ กิตติพล เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย  กล่าวว่า เป็นสถานการณ์ปกติ ตั้งแต่ก่อนโควิด กำลังการผลิตไม่มาก แต่พอมาช่วงโควิด ความต้องการสูง ทำให้ทุกคนหันมาผลิตน้ำยางกันเยอะมาก พอตอนนี้สถานการณ์มาเป็นปกติ  ทั้งความต้องการยางยืด และยางรัดของความต้องการน้อยลง บวกเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ท่ามความกลางสงคราม เลยทำให้ความต้องการน้ำยางไม่ดี รวมไปถึงตัวของล้อยางด้วย

“ทุกคนน่าจะทราบเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้มาสักพักแล้วไม่ใช่เพิ่งเกิด และที่ราคาไม่ได้ลงมากนัก เป็นช่วงที่มีฝนตกเยอะ แต่ตอนนี้พอของใกล้จะออกคนก็มีความกังวล เพราะของยังขายไม่ได้ เป็นช่วงอั้น ของใหม่ก็ออก ของเก่าก็ขายไม่ได้ จะทำอย่างไร อาจจะต้องรอสัก 1 เดือน รอดูสถานการณ์จะเปลี่ยนไหม หรือ 2 เดือน ซึ่งตอนนี้เหมือนเป็นคอขวด เชื่อว่าสุดท้ายจะรีบาวด์กลับมาเพราะของทุกอย่างมีค่าในตนเอง ทั้งขี้ยาง น้ำยาง จะลงไปมากกว่านี้คงไม่ใช่ คนที่ซื้อ โรงงานที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ก็ยังคงซื้ออยู่ ซึ่งเป็นราคาต่ำ ในรอบหลายปี ที่มีไม่กี่ครั้ง ที่ราคาลงมาแบบนี้ เป็นจุดที่ทุกคนสนใจที่จะซื้อ แต่เทรดเดอร์ก็รอดูสถานการณ์ไม่มีใครกล้าซื้อเพราะกลัวราคาจะลงไปอีก”

นายกรกฎ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ไม่เหมือนในอดีต ที่เป็นปัญหามีมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อช่วยเกษตรกร คือ สถานการณ์โลกไม่ใช่แบบนี้ ยังมีแค่บางจุด บางที่ที่ประสบปัญหาเช่น จีนชะลอตัว หรือมีปัญหาจุดเล็กๆ น้อยๆ แต่นี้วิกฤติเศรษฐกิจทั้งโลก อาทิ จีนเศรษฐกิจซบเซา ฝั่งรัสเซีย-ยูเครนก็เกิดสงคราม ประเทศเกิดใหม่ตะวันออกกลาง ก็เกิดเงินเฟ้อ มรสุมถาโถมทุกทาง เป็นการผสมกันระหว่างโควิด ผสมกับสงคราม บวกกับการเงินทุกประเทศในโลกที่ลงทุนไปจากการเกิดโควิดทำให้สภาพคล่องขาด ซึ่งการจับจ่ายใช้สอยต้องใช้เวลาในการที่จะฟื้นขึ้นมา

สำหรับประเด็นที่ดีทีสุดก็คือ ไม่เสนออะไร เพราะเสนอก็โดน ถามว่ารัฐบาลจะมีเงินก้อนมาช่วยก็ไม่ใช่ หรือมาพยุงดดอกเบี้ยเหมือนสมัยก่อน ก็คงไม่ใช่ หรือช่วยก็ไม่มาก เพราะปัญหาคือสภาพคล่อง รัฐบาลจะเอาเงินก้อนมาให้กู้หรือ ก็คงไม่ใช่ หรือกู้เสร็จจะให้ช่วยเก็บสต๊อก ล้วนเป็นมาตรการเก่า ทางออกที่ดีที่สุดทุกคนเข้าใจสถานการณ์ ปรับตัวให้ได้ แล้วพยายามผ่านให้ได้ ในช่วงปลายปีทุกโรงงาน ทุกบริษัท จะต้องเริ่มเก็บซื้อยางเอามาเก็บเพื่อเตรียมไว้ใช้ในตอนช่วงไม่มีกรีดยาง แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าซื้อน้อยกว่าที่เคยซื้อ เนื่องจากวอลุ่มที่เข้ามาอาจจะน้อยลง แต่ไม่ถึงขั้นโอเวอร์ซัพพลาย

ความจริงทำอะไรก็ได้แต่ให้ไปกระทบ หรือเป็นภาพลบกับตลาดไปมากกว่านี้ หรือไปทำอะไรขัดความจริง ต้องอดทน อาจจะราคาลงไปมากกว่านี้ แต่อยู่ในระยะเวลาสั้นๆ  แต่ถ้าไปทำอะไรสักอย่างหนึ่งอาจจะทำให้ปัญหายาว หรือ สมมติรัฐบาลออกมาซื้อแบบสมัยก่อนก็จะเป็นปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก ขายก็โดนฟ้อง โดนอภิปรายในสภา เป็นปัญหาที่แก้ไม่รู้จบ ไม่ควรจะทำ และมีบางประเทศมาเสนอให้จำกัดการส่งออก เพราะตอนนี้ลูกค้าก็ไม่อยากได้ของ แล้วคนที่ทำสัญญาไว้แล้ว ทำไมต้องไปบีบ ลูกค้าก็ต้องรับความเสี่ยง ทำไมต้องไปช่วย มองไปมองมา นโยบายเก่าๆ ใช้ไม่ได้

แต่สุดท้ายถ้ามีเงิน และมีความมั่นคงของรัฐบาล นโยบายอะไรทุกอย่างทำได้หมด เศรษฐกิจดี ถูกต่างประเทศบี้ราคา กลไกตลาดบิดเบี้ยวทำให้ราคาตก ใช้มาตรการเหล่านี้ช่วยได้เพื่อสู้ แต่ถ้าทั้งโลกเป็นอย่างนี้นโยบายอะไรก็ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้ดีที่สุดก็โฆษณาให้ทุกคนช่วยกันซื้อยาง พยายามแก้เรื่องรายได้เกษตรกรทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มหนทางดีที่สุด ยั่งยืนสุด เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ได้ โรงงานก็ไม่มีปัญหา ต่างประเทศจะลงราคาเท่าไรก็ได้ไม่มีปัญหา ไปหาอะไรทำแล้วหยุดกรีดยาง ซึ่งไม่ได้แจกเงิน นั่นเป็นระยะสั้น แก้ได้เร็วที่สุด

แต่ควรจะเพิ่มรายได้ทางอื่น เช่น การปลูกพืชเสริม การทำคาร์บอนเครดิตขาย  เป็นต้น หรือให้ทางจังหวัด พาณิชย์จังหวัด กรมการจัดหางาน ช่วยหางานในพื้นทีให้กับชาวสวนยางทำ เพราะช่วงฤดูการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม อย่างน้อยเชื่อว่าหากหยุดกรีดวัน 5-7 วัน หรือผลัดกันก็ได้ จาก กรีดวัน เว้นวัน อาจจะกรีด สองวันเว้นสองวัน เป็นต้น อาจจะเป็นทางออกที่ชะลอซัพลายลง เพราะถ้ากรีดออกก็ออกมากองขายไม่ออก และทุกคนก็ถูกกดราคาพร้อมกันหมด แต่ถ้าใครไม่มีทางเลือกจะกรีดก็กรีดไป แต่ถ้ามีทางเลือกก็อยากแนะนำเพื่อไม่ให้ราคาออกมาต่ำลงไปกว่านี้

ขณะที่ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  รายงานสถานการณ์ราคายางพารา วันนี้ (8 พ.ย. 65 เทียบราคาปิดเมื่อวานนี้) น้ำยางสด   43.60 บาทต่อกิโลกรัม  ราคาคงที่ ยางก้อนถ้วย   39.25 บาท บาทต่อกิโลกรัม ราคาคงที่ ส่วน ยางแผ่นดิบ 46.09 บาทต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่ม 0.08 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควัน 47.41 บาทต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่ม 0.67 บาทต่อกิโลกรัม 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อราคา  ราคาตลาดล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้น ญี่ปุ่น บวก 2.14% จีน บวก 2.24% และมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของจีน ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์สัญญาซื้อขายยางล่วงหน้า และการส่งออกยาง

 

อย่างไรก็ดีในโครงการประกันรายได้ยางพารา เฟส 4  จะมีประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ กยท. มองว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สร้างความมั่นคงให้กับรายได้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่ง กยท. เองก็สนับสนุนนโยบายนี้ ดังนั้นขอให้พี่น้องเกษตรกรรับฟังข่าวดี โครงการนี้ก็จะเหมือน เฟส 1-เฟส 3 ที่ผ่านมา จ่ายชดเชยราคาประกันยางพารา 3 ชนิด 

 

1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม

2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม

3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

 

เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ กยท. สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ได้ที่ลิงค์  http://www.raot.co.th/gir/index/ 

ด้าน สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา รายงาน ราคายางประจำวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565

กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา  แจ้งราคาขาย พร้อมให้กำลังใจกันในยามที่ราคายางตกต่ำ บางคนก็ไปเปรียบเทียบ "ปีนี้ราคา น้ำยาง 3 โล ซื้อหมูได้ครึ่งกิโล"

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ :  9 พฤศจิกายน 2565
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com