|
 
 
 
วันที่ / Date 23-25/11/2567
66.70 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 22/11/2567
1,560.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   กยท. – MRB ตั้งโต๊ะแลกเปลี่ยนแนวทางสร้างเสถียรภาพราคายางยั่งยืน พร้อมเผย! ความพร้อมต่อกฎ EUDR new

(6 ส.ค. 67) ณ ห้องประชุมมหิศรภักดี กยท.จ.สงขลา -- การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโต๊ะกลม โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำหารือ พร้อมด้วย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. ร่วมหารือกับ Malaysian Rubber Board (MRB) โดย Dato’Dr. Zairossani Mohd Nor ผู้อำนวยการ MRB , องค์กรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยเพื่อลงทุนยางพารา (RISDA) และสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (Margma) รวมถึงคณะผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมยางมาเลเซีย ร่วมนำเสนอความพร้อมในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับยางของไทย ภายใต้กฎระเบียน EUDR หวังยกระดับผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมยางพาราให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า 2 ประเทศ ตลอดจนสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในภาคการค้ายาง


ดร.เพิก เลิศวังพง กล่าวว่า ด้วยนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียที่ต้องการจะพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพ และมีมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์ในด้านการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมของยางพารากับทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ในการเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนภาคอุตสาหกรรมมาเลเซียในครั้งนี้ กยท. ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และสร้างความความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ


ดร.เพิก เผยถึงการนำเสนอความพร้อมของไทยต่อกฎระเบียบ EUDR ว่า ไทยได้ดำเนินการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยนำร่องในอุตสาหกรรมยางล้อ และได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อนำมาปรับปรุงระบบเป็น version ล่าสุด ที่พร้อมจะให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารไปใช้ประกอบการแสดงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เข้าสู่สหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้ กยท. ได้มีการสื่อสารและเจรจาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับยางพาราทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ตลาดเครือข่าย ประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศและตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยางพารา และตลาดของผลิตภัณฑ์ยางพาราของ ทั้ง 2 ประเทศควรร่วมแลกเปลี่ยนการแนวทางการทำงานของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และควรพัฒนาคู่มือแนวทางปฏิบัติหรือขั้นตอนการดำเนินการในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางธรรมชาติร่วมกัน


ดร. เพิก กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้า EUDR และระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบกิจการยาง สมาคมยางล้อรถยนต์ของไทย (TATMA) ตลอดจนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการและสมาคมมีความกังวล คือ ปริมาณสินค้าในตลาดเครือข่ายและตลาดกลางยางพาราของ กยท. อาจไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขณะนี้ กยท. บริหารจัดการผลผลิตให้รองรับการตรวจสอบย้อนกลับให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ทั้ง 2 ประเทศ ควรผลักดันมาตรฐานการจัดการยางพาราเพื่อความยั่งยืนให้ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือในเวทีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ ซึ่งจะหารือร่วมกันในเดือนกันยายนนี้


ประธานบอร์ด กยท. เผยถึงนโยบายการสร้างเสถียรภาพราคายางที่ยั่งยืนของไทย ว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้มีการสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน โดยการนำเอาระบบ GAP มาส่งเสริมให้แก่เกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมระบบตลาดกลางแก่เกษตรกรรายย่อย ลดการเก็งกำไรของพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพและส่งผ่านไปยังเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ตลอดจนส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรมีการจัดหาวัตถุดิบร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิต รักษาสมดุลผลผลิตในตลาด


"หวังว่าเวทีหารือระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ จะมีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้นในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพาราของอาเซียน” ประธานบอร์ด กยท. กล่าวในที่สุด


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหารือที่สำคัญระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งพูดถึงประเด็นตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนของประเทศไทย-มาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมา กยท. สนับสนุนการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ผ่านการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ทั้งนี้ กยท. มีความสนใจเข้าร่วมการพัฒนาตลาดคาร์บอนในมาเลเซีย ซึ่ง กยท. ได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนคาร์บอนสะสมในพื้นที่สวนยางพารา ประเด็นการสร้างความยั่งยืนยางสำหรับอุตสาหกรรมยางในภาคกลางน้ำและปลายน้ำ โดย กยท. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางสู่ผู้ประกอบการ โดยมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากงานวิจัยและความต้องการของผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ดังนั้น กยท. มีความยินดีที่จะร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ตลอดจนการค้า การลงทุนและการตลาดกับ MRB คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิต และอุตสาหกรรมยางตลอดห่วงโซ่อุปทานได้มากยิ่งขึ้น และประเด็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานวิจัยต้นน้ำ ซึ่ง กยท. ได้พูดถึงการพัฒนาเครื่องมือกรีดยางด้วยเครื่องจักร โดยนำระบบกรีดความถี่ต่ำที่มีความเป็นไปได้เพื่อปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของแรงงานกรีด รวมถึงการเพิ่มผลผลิตด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ทั้ง 2 แนวทางสามารถแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และวัตถุดิบได้ดี ดังนั้น ไทยยินดีให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ MRB เพื่อยกระดับงานวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรสถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมยางพาราอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย

Update :  7 สิงหาคม 2567     เวลา : 10:47:11 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com