|
 
 
 
วันที่ / Date 23-25/11/2567
66.70 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 22/11/2567
1,560.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   บิ๊กธุรกิจ เปิดศึกชิงยาง EUDR กยท.คุมเข้มแก๊งสวมสิทธิเกษตรกร new

ตื่น “EUDR” บิ๊กธุรกิจยางพารา เปิดศึกสถาบันเกษตรกร ชิงผลผลิตยางไม่รุกป่า 20 ล้านไร่ ดันราคาประมูลสูงสุดรอบ 12 ปี “เพิก” ประธานบอร์ด กยท. ฮึ่ม เตรียมเชือดเป็นคดีตัวอย่าง แก๊งสวมสิทธิเกษตรกร สอดไส้สวมยาง EUDR ส่งขาย หลังราคาจูงใจ ขู่ใช้โทษสูงสุด พ่วงขึ้นแบล็กสิสต์

จากที่สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (European Union Deforestation Regulation ) หรือ “EUDR” ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้ โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดคือ ยางพารา ได้เริ่มนำร่องการประมูลยาง EUDR ณ ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นที่แรก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555

นายฉลองชาติ ยังปักษี คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัท /ผู้ประกอบการยางพารา ที่ขายให้กับตลาดอียูหลายราย ได้ส่งคนมาสำรวจแปลงปลูกสวนยางในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เครือศรีตรังฯ ยางไทยปักษ์ใต้ เป็นต้น ซึ่งได้แจ้งชาวสวนยาง และผู้ค้ายางที่จะขายให้กับบริษัท จะต้องเตรียมเอกสาร ได้แก่ 1.แบบสอบถามการสำรวจแหล่งที่มา,เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการแชร์ตำแหน่งที่ตั้งของสวนยางจาก แอป Google map หรือ Line จากมือถือ

“หากเกษตรกรจะขายยางให้กับเอกชนรายใด ก็ต้องไปตรวจสอบรายนั้นว่าได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ที่จะขายยางให้กับอียูหรือไม่ จากมีความเสี่ยง เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นคนของบริษัทจริงหรือไม่ แต่ถ้าขายให้กับสถาบันเกษตรกร ที่เป็นเครือข่าย กยท.อยู่แล้วก็มั่นใจว่าไม่โดนหลอกแน่ และในส่วนของเกษตรกร หากมีโควตาขายอยู่ 1,000 กิโลกรัม แต่ไปเอาของคนอื่นมาใส่เพิ่ม เกษตรกรรายนั้นอาจจะโดนตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมโครงการ”

ขณะที่นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) กล่าวว่า EUDR เป็นเรื่องใหม่ ยอมรับว่ากยท. ยังไม่สามารถที่จะออกไปรับรองพื้นที่สวนยางตามมาตรฐาน EUDR ได้ทั้งหมด แต่มีแผนดำเนินการชัดเจนเป็นไปตามขั้นตอน โดยเปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน จากนั้นจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะซื้อขายยาง EUDR ให้มาขึ้นทะเบียนตามลำดับ ล่าสุดมีข่าวมาว่ามีความพยายามของกลุ่มคนที่จะนำสิทธิของเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไปหาซื้อยางกันเอง แล้วนำมาคูณด้วยจำนวนโควตาที่เกษตรกรได้รับ นำมาขายทำกำไรได้เลย ซึ่งความจริงไม่ใช่ และไม่ง่ายแบบนั้น เพราะในการซื้อขายยาง EUDR จะต้องให้ กยท.ตรวจสอบข้อมูลและรับรองความถูกต้องอีกครั้ง หากไม่ตรงกับฐานข้อมูลก็จะถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น

“ยกตัวอย่าง นาย ก มีทะเบียนเกษตรกร ขึ้นพื้นที่ไว้ 10 ไร่ คิดเป็นปริมาณยาง 260 กก.ต่อไร่ นำมาคูณ 10 ไร่ จะมีโควตาขายยาง 2,600 กก. แล้วมีเทคโนโลยีคำนวณการถอดสูตร ดังนั้นการที่จะมาโกงโควตาทำได้แต่ไม่ง่าย ตอนนี้มีการตรวจเจอแล้ว กำลังดำเนินคดีให้เป็นตัวอย่าง มีภาคใต้ 1 ราย และภาคตะวันออก 1 ราย ปัจจุบัน กยท. มีการขึ้นทะเบียนสวนยางทั้งหมด 15 ล้านไร่ สิ้นเดือนมิถุนายนนี้คาดจะได้ประมาณ 20 ล้านไร่”

ทั้งนี้ ราคายางอียูดีอาร์ราคาสูงกว่ายางทั่วไป ถ้านำไปสวมสิทธิโดยที่เกษตรกรไม่ยินยอม จะมีโทษตามกฎหมาย PDPA โทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 3 ล้านบาท หรือจ่ายค่าเสียหาย 2 เท่า หรือทั้งจำทั้งปรับ  และนำมาใช้เพื่อการค้ายิ่งโดน 2 เด้งเพราะจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ด้วย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

Update :  10 มิถุนายน 2567     เวลา : 10:25:37 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com