นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตามที่สหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์จากยาง จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ถือเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก และเชื่อมั่นว่า จะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานของสหภาพยุโรป ในการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถส่งออกได้ตามมาตรฐาน สร้างรายได้ และเพิ่มราคาให้กับชาวสวนยางของไทย พร้อมตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดยางพารา ผลักดันการส่งออกยางพาราปีละ 2.5 - 3 ล้านตัน
"การขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล หารือและสร้างแนวทางขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยเฉพาะแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ปลูกยาง รวมถึงการตลาด เพื่อประโยชน์ต่อชาวสวนยาง รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน โดยจะนำปัญหา และข้อเสนอแนะไปดำเนินการ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รองรับการประกาศใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป" นางนฤมล กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
สมาคมน้ำยางข้นไทย 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772 E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org