นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยในงาน “Talk About Rubber” ถึงการจัดการข้อมูลยางพารา ปรับสมดุล สร้างเสถียรภาพยางในประเทศ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ว่า จากนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพาราของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นแนวทางการบริหารจัดการยางให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งแนวทางการติดตามดูแลในไตรมาส 4 ของปี 2566 นี้ กยท.ประสานกรมวิชาการเกษตร ให้เสนอตั้งพนักงานของ กยท. เป็นเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบสต๊อกยางพารา
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ กยท. มีความพร้อมและมีทุกจังหวัด ที่จะเข้าร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ในการตรวจสอบสต๊อกยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังแต่งตั้งก็จะเร่งปูพรมลงตรวจพร้อมกันทุกจังหวัด โดยจะเข้าตรวจสอบเอกสารและบัญชียาง เปรียบเทียบกับยางจริงในสต๊อก และให้ กยท.ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการตรวจให้เสร็จสิ้น พร้อมรายงานผลภายใน 30 วัน
“กยท.ทุกจังหวัดจะตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน พื้นที่สวนยาง และปริมาณผลผลิตยาง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลยางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (big data) นำปริมาณยางที่มีอยู่จริงมาเปรียบเทียบเพื่อทราบข้อมูลปริมาณยางจริง เพื่อที่จะบริหารจัดการยาง กำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ด้านยาง”
โดยการดำเนินการก็อยู่ภายใน 3 แนวทางสำคัญที่ กยท.ดำเนินการอยู่ คือ 1.การปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ 2.เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (ยางพารา) 3.ดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนกับ กยท. แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา
นอกจากนี้ กยท.ยังมีโครงการชะลอยาง การจัดทำ zoning พื้นที่กรีดยาง และข้อมูลยางพาราที่จัดเก็บในระบบ รองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง
นายณกรณ์กล่าวอีกว่า ส่วนการเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ได้มีการตั้งทีมสายลับยาง เพื่อทำงานร่วมกับเครือข่าย กยท.ในพื้นที่ ในการเข้าไปสอดส่องและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมาย
อีกทั้งตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตร โดย กยท.ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่เพื่อสกัดและตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าที่ผ่านเส้นทาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และตรวจสอบการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ในพื้นที่รับผิดชอบของด่านตรวจพืช สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ กยท.เองจะเชิญผู้ประกอบการยางพาราประชุมหารือ แนวทางร่วมลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เตรียมหารือนัดแรกกับภาคเอกชนโดยเร็วที่สุด
ทิศทางยาง ไตรมาส 4
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไทย ไตรมาส 4/2566 ว่า สถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลก ANRPC คาดว่าอุปทานยางธรรมชาติทั่วโลกปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.5%
ส่วนสถานการณ์การใช้ยางพาราโลก คาดว่าความต้องการใช้ยางโลกปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า และมากกว่าผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก 0.687 ล้านตัน โดยคิดเป็น 4.4% เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดการส่งออกยางพาราได้ที่ 43%
ส่งออกยางไทย
การส่งออกยางพาราไทย คาดว่าในไตรมาส 4 ปริมาณส่งออกยางธรรมชาติจะอยู่ที่ 1,125,945 ตัน เพิ่มขึ้น 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน มีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น และอาจส่งผลให้มีการใช้ยางเพิ่มขึ้นตาม คาดว่าปี 2566 ปริมาณส่งออกทั้งหมดจะอยู่ที่ 4.267 ล้านตัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี เพื่อการผลักดันตลาดยางพาราไทย การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นช่องทางสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และยางพารา เช่น TAFTA (ไทย-ออสเตรเลีย) สัดส่วนการใช้สิทธิ 60.68%
นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งผลักดันมูลค่าสินค้าเกษตร การจัดการข้อมูลยางพารา และเช็กสต๊อกยางทั้งหมดของประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการให้เกิดสมดุลยางในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งก็เป็นส่วนช่วยสำคัญ
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามที่กระทบต่อการผลิต การตลาดยางพารา ยังเป็นเรื่องของสภาพอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญ เพราะเมื่อหมดฤดูฝนจะเผชิญเรื่องภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส คาดว่าจะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า อัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งสูงสุดในรอบ 22 ปี และอาจปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้ คาดว่าสิ้นปี 2566 อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5.50-5.75%
โดยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านี้มีผลกระทบต่อการผลิตยางพาราไทยในไตรมาส 4 ที่ต้องติดตาม จึงคาดว่าทิศทางราคายาง ไตรมาส 4/2566 มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |