พาณิชย์ เผยการส่งออกไทยเดือน พ.ค.ติดลบ 4.6 % มูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์ ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ผลจากเศรษฐกิจค้าชะลอตัว ส่วนภาพรวม 5 เดือน ส่งออกติดลบ 5.1% มูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์ คงเป้าทั้งปีขยายตัว 1-2 %
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนพ.ค.มีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.6 % ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 1.4 % การนำเข้า มีมูลค่า 26,190.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.4 % ส่งผลให้ไทยขาดดุล 1,849.3 ล้านดอลลาร์ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.5% ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,365.3 ล้านดอลลาร์
การส่งออกของไทยที่ติดลบมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้า และทำมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของเดือนพ.ค.โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน จากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ ยานพาหนะและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องปรับอากาศ) ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน(5) และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 5 เดือนแรก ติดลบ 5.1 % และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 2.1 %
ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 16.3 % ติดลบในรอบ 4 เดือน หดตัวจากสินค้าเกษตรสูงถึง27.0 % ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 0.6 % หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว เครื่องดื่ม ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 1.3%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 1.5 % กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 5.4 %
ด้านการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน (5) สะท้อนอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายประเทศจะยังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้การส่งออกไปตลาดจีนกลับมาหดตัว
นายกีรติ กล่าวว่า กระทรววงยังคงเป้าส่งออกทั้งปีที่ขยายตัว 1-2 % โดยแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไปคาดว่าจะกลับมาดีขึ้น แต่การส่งออกไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกจากทั้งภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้ แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และภาคการผลิตสินค้า การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการพึ่งพาตนเองของจีน
ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ การดำเนินนโยบายในเชิงรุกและเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งรักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทย แนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการบริโภคและการลงทุน ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก า เช่น การเร่งผลักดันนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” รองรับความต้องการอาหารของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร โดยใช้หลัก “รัฐหนุน เอกชนนำ” ลดอุปสรรคในการส่งออกให้มากที่สุด และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและชื่นชอบอาหารไทย ผ่านการจัดงานแสดงสินค้า THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ระหว่างวันที่ 23 - 27 พ.ค. การส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |