หมวดที่ 6  คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 17.  การเลือกตั้งคณะกรรมการของสมาคม  ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน และ ไม่เกิน 15 คน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ จะมีมติเป็นอย่างอื่น  การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับ โดยให้สมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญเสนอชื่อของสมาชิกสามัญ ซึ่งตนประสงค์จะให้เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกสามัญอื่นรับรองไม่น้อยกว่าสองคน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้ง ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคแรก และตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ     ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรมการคราวนั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่ เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับฉลาก ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเอง เพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคม อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียนตำแหน่งละ 1 คน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ที่จะได้กำหนดหน้าที่ตามที่เห็นสมควร

                คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละ 2 ปี ทั้งนี้ให้เริ่มวาระตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง

ข้อ 18.  การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ  กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ออกตามวาระ
  2. ลาออก โดยคณะกรรมการของสมาคมได้ลงมติอนุมัติแล้ว เว้นแต่การลาออก เฉพาะตำแหน่งตามข้อ 17 วรรคสาม
  3. ขาดจากสมาชิกภาพ
  4. ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนจากการเป็นกรรมการ
  5. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
  6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509                                    

ข้อ 19.  หากตำแหน่งในคณะกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ   ให้คณะกรรมการที่เหลือแต่งตั้งสมาชิกสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากำำหนดเวลาผู้ซึ่งตนแทน กรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการชุดซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นแทนภายใน 180 วัน ในกรณีนี้ให้นำความ ในข้อ 24 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ข้อ 20.  องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ  กรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงนับได้ว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 21.  มติของที่ประชุมคณะกรรมการ  ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่ง มีเสียงหนึ่งเสียง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธาน ในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 22.  ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคม ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้อุปนายกปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้านายกและอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมในคราวนั้น

ข้อ 23.  การประชุมคณะกรรมการบริหาร  ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อ เดือนละครั้ง ในกรณีจำเป็นนายกสมาคม หรือกรรมการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการสมาคม  จะเรียกประชุมพิเศษขึ้นก็ได้

ข้อ 24.  การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ  เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่  ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดสงขลา ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งและส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ รับจดทะเบียน ในกรณีที่ นายทะเบียนสมาคมการค้า ฯ ยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมต่อไปจนกว่านายทะเบียนสมาคมการค้าฯ จะรับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว

ข้อ 25.  อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

  1. จัดดำเนินงานกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ
  2. เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการบริหาร
  3. ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน ที่ปรึกษาของคณะกรรมการของสมาคม อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ และพนักงานทั้งปวง เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคม เป็นไปโดยเรียบร้อย

ข้อ 26.  อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้

     (1) นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคม เป็นผู้ได้รับมอบหมาย จากคณะกรรมการให้ดำเนินกิจการของสมาคม อันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดจนในที่ประชุมใหญ่

     (2) อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

     (3)  เลขาธิการ  มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของสมาคม  เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

     (4)  เหรัญญิก มีหน้าที่รักษา และจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงิน เก็บรักษา และจ่ายพัสดุของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการ มอบหมาย

     (5) นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทะเบียนสมาชิก และทะเบียนต่าง ๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

     ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ 7 การประชุมใหญ่มาใช้บังคับโดยอนุโลม